การดำเนินธุรกิจภายใต้เป้าหมาย และวิสัยทัศน์อันแน่วแน่นั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกองค์กร เช่นเดียวกับ ‘คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล’ องค์กรผู้คว้า รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ Thailand Quality Class Plus: Operation ประจำปี 2563 ที่ยึดมั่นในวิสัยทัศน์ขององค์กร โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านการแพทย์ที่ได้รับความเชื่อถือระดับสากล และสร้างองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ระดับประเทศ และระดับโลก
“ศิริราชไม่เคยดำรงตนเพื่อตัวเอง
ศิริราชดำรงตนเพื่อประเทศนี้ เพื่อคนไทยทั้งประเทศ”
ศิริราชมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตประชาชนชาวไทยถึง 3 ด้าน ทั้งการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ และการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ตามมาตรฐานสากล บนเส้นทางสู่เป้าหมายนั้นอาจไม่ง่ายนัก เพราะต้องอาศัยกลยุทธ์ที่เข้มแข็ง และการพัฒนาที่ต่อเนื่องเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับความท้าทายต่าง ๆ อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ศิริราชเลือกนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อสานต่อความมุ่งหวังที่จะสร้างองค์กรที่เป็นเลิศ ด้วยผลลัพธ์การดำเนินงานที่เป็นเลิศ
จากการที่ศิริราชเชื่อมโยงแนวทางของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเข้ากับวิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กร ภายใต้เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องนั้น ก่อเกิดเป็นแนวทางการปฏิบัติการที่ช่วยพัฒนาผลการดำเนินงานแก่องค์กรที่สำคัญในหลายด้าน อาทิ
วางแผนพัฒนาระบบและโครงการต่าง ๆ เพื่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน
ให้สอดรับกับแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำงานที่มุ่งเน้น ความปลอดภัย คุณภาพ ความคุ้มค่า และความสมดุลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านการพัฒนาระบบปรับปรุงผลการดำเนินการในองค์กร (Siriraj Performance Improvement System) และกระบวนการแก้ไขปัญหาทั้งระดับกระบวนการ (CQI) ภายใต้ระบบประเมินคุณภาพภายใน พร้อมจัดให้มีโครงการประกวดประจำปีเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพผลการดำเนินงาน ได้แก่ โครงการติดดาว และงานวิจัยจากงานประจำ (R2R) รวมถึงโครงการระดับองค์กรอย่าง SiIPEx ที่มุ่งยกระดับการพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรด้วยเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ
บูรณาการความรู้ทั้งองค์กรด้วย KM strategy ” Siriraj Link-Share-Learn “
เริ่มต้นจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่กำหนดหัวข้อ และดำเนินการร่วมกันในลักษณะคร่อมสายงาน (Siriraj Community Practice Style) เกิดการถอดรหัส best practice ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เครื่องมือคุณภาพ เพื่อยกระดับสมรรถนะของบุคลากรและงานประจำให้เปี่ยมด้วยคุณภาพ พร้อมบรรลุเป้าหมายขององค์กร
ปลูกฝัง ‘ ความคล่องตัว ‘ พร้อมรองรับทุกความท้าทาย
โดยสอดแทรกแนวคิดเรื่องความคล่องตัว ผ่านกระบวนการทำงานตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงผู้บริหารระดับต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหา และกำจัดจุดอ่อนของการดำเนินการอย่างทันท่วงที เช่น การจัดทำแผนรองรับการระบาดของเชื้ออุบัติใหม่ (BCP) ระหว่างการระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้บริหารระดับสูงคอยประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา และการตั้งคณะทำงาน COVID-19 BCM เพื่อร่วมกันติดตาม จัดการ ควบคุมให้เกิดความปลอดภัย และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานน้อยที่สุด
การดำเนินงานที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกระดับทั่วทั้งองค์กร ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน และเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ศิริราชสามารถออกแบบ และปรับปรุงกระบวนการทำงานได้อย่างต่อเนื่องบนเส้นทางสู่ความเป็นเลิศ สร้างความมั่นใจ และเปี่ยมด้วยพลังในการขับเคลื่อนไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือ การเป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน เพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะแก่มวลมนุษยชาติ ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้
…..
ขอเชิญผู้ที่สนใจร่วมเจาะลึกองค์ความรู้ และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศจาก 8 องค์กรรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2563 ในงานสัมมนาเผยแพร่ความรู้ “Thailand Quality Award 2020 Winner Conference” พร้อมด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ และความรู้ด้านต่าง ๆ จากตัวแทนองค์กรระดับ World Class