FAQ

ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ คือใคร

ตอบ  ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ในการบริหารจัดการองค์กร มีความเข้าใจเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่วิเคราะห์และให้ความเห็นเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงองค์กรในมุมมองจากความเชี่ยวชาญของสาขาวิชาชีพ ผ่านกระบวนการตรวจประเมินภายใต้กรอบของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ โดยไม่มีผลประโยชน์และค่าตอบแทนใดๆ

ประโยชน์ของการเป็นผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ คืออะไร
ตอบ

  • ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการทำหน้าที่ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สามารถนำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาองค์กรท่านเอง
  • ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สามารถช่วยผลักดันองค์กรท่านเอง ในแนวทางที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
  • ได้รับโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • ได้รับโอกาสและความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่อันทรงเกียรติระดับชาติ ถือเป็นเกียรติประวัติของชีวิตการทำงาน

ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ทำอะไร
ตอบ
ทุกๆปี คณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติจะแต่งตั้งคณะผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ตรวจประเมินองค์กรที่สมัครขอรับรางวัล

คุณภาพแห่งชาติ ตามกระบวนการ คือ
ขั้นที่ 1 Independent Review
ใช้เวลาประมาณ 60-80 ชั่วโมงต่อผู้สมัคร 1 ราย เพื่อตรวจประเมิน วิเคราะห์ และให้คะแนนแบบเอกเทศโดยพิจารณาจากรายงานผลการดำเนินงานของผู้สมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ
ขั้นที่ 2 Consensus Review
การประชุมระหว่างผู้ตรวจประเมินเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและวิเคราะห์ในมุมมองต่างงๆ เพื่อหาข้อสรุปอย่างเป็นเอกฉันท์ ใช้เวลาประมาณ 16-20 ชั่วโมงต่อผู้สมัคร 1 ราย
ขั้นที่ 3 Site Visit Review
ผู้ตรวจประเมินจะต้องตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการของผู้สมัครขอรับรางวัลใช้เวลาประมาณ 30-60 ชั่วโมงต่อผู้สมัคร 1 ราย

จรรยาบรรณของผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA Assessor Code of Conduct) ประกอบด้วยจรรยาบรรณด้านใดหรือหมวดใด

ตอบ จรรยาบรรณของผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA Assessor Code of Conduct) ถือเป็นมาตรฐานหรือข้อปฏิบัติที่ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติทุกท่านได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในการตรวจประเมินองค์กรต่างๆ ที่สมัครเพื่อเข้ารับรางวัลคุณภาพแห่งชาติประกอบด้วยจรรยาบรรณ 3 หมวด ได้แก่
หมวดที่ 1: ความเป็นมืออาชีพ
หมวดที่ 2: การเก็บรักษาความลับ
หมวดที่ 3: ผลประโยชน์ทับซ้อน

ในหมวดที่ 1 ข้อ 1.3 ได้กำหนดว่าผู้ตรวจประเมินจะไม่ติดต่อกับองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลหรือแสวงหาเอกสาร ข้อมูล คำชี้แจง เกี่ยวกับองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลเพิ่มเติม ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ รวมทั้งการค้นหา ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต แต่ผู้ตรวจประเมินมีคำถามว่า ถ้าผู้ตรวจประเมินพบคำที่ไม่เข้าใจและคำ ๆ นี้เป็นคำที่ใช้ทั่ว ๆ ไปในอุตสาหกรรมนั้น ทางผู้ตรวจประเมินจะเข้าไปค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้หรือไม่ ?

ตอบ เจตนารมณ์ ในการที่ขอให้ผู้ตรวจประเมินไม่ติดต่อกับองค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลในการแสวงหาข้อมูลต่าง ๆ ก็เพื่อที่จะช่วยในการเก็บรักษาความลับและช่วยให้ผู้ประเมินสามารถทำการตรวจโดยเอกเทศ ดังนั้น การหาข้อมูลทั่วไปของธุรกิจนั้น สามารถดำเนินการได้ โดยต้องไม่ติดต่อกับองค์กรผู้สมัครหรือเข้าไปดูในเว็บไซต์ขององค์กรผู้สมัคร เพื่อความเป็นกลางในการตรวจประเมิน

ในขั้นตอน Consensus Review คะแนนรวมของผู้สมัครเกือบถึงระดับที่จะไปตรวจประเมิน ขั้นที่ 3และผู้ตรวจประเมินเสนอทีมให้ทบทวนคะแนน เพื่อต้องการไปตรวจประเมินขั้นที่ 3 กรณีนี้ทำได้หรือไม่ ?

ตอบ การทบทวนคะแนน ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อ ประโยชน์ต่อตนเอง ทำไม่ได้ เนื่องจากขัดต่อข้อปฏิบัติว่าด้วยจรรยาบรรณผู้ตรวจประเมิน ดังต่อไปนี้
  • หมวดที่ 1 ความเป็นมืออาชีพ

ข้อ 1.1 “ประพฤติตนอย่างมืออาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์ ถูกต้อง เป็นธรรม ให้เกียรติ และรับผิดชอบต่อสาธารณชน”

  • หมวดที่ 3 ผลประโยชน์ทับซ้อน
ข้อ 3.3 “หลีกเลี่ยงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดแย้งในผลประโยชน์ หรือการมีสถานภาพที่อาจมีผลประโยชน์ขัดแย้ง – หรืออาจขัดแย้ง – ต่อวัตถุประสงค์ของรางวัล การบริหารรางวัล และเกียรติภูมิของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ”
ข้อ 3.4 “ไม่ใช้หน้าที่ของการเป็นผู้ตรวจประเมินเพื่อสนองประโยชน์ส่วนตัว หรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ไม่รวมถึง การประเมินองค์กร หรือหน่วยงานย่อยในองค์กรที่ตนปฏิบัติงานอยู่ (Self Assessment) ตลอดจนการประเมินองค์กรที่ตนให้หรือคาดว่าจะให้คำปรึกษา เป็นหรือคาดว่าจะเป็นวิทยากรสำหรับการฝึกอบรมภายในองค์กรนั้น”

หัวหน้าทีมผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Team Leader)ได้รับรายงานการทำ Independent review จากผู้ร่วมทีม แล้วสามารถนำมาตัดต่อ เพิ่มเติม และคัดลอกจากลูกทีมได้หรือไม่?

ตอบ จรรยาบรรณผู้ตรวจประเมินฯ หมวดที่ 1 ความเป็นมืออาชีพ ข้อ 1.2 ระบุว่า
“ตรวจประเมินรายงานวิธีการและผลการดำเนินงาน (Application Report) องค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลที่ได้รับมอบหมายด้วยตนเองอย่างเป็นเอกเทศ”
ดังนั้น การตัดต่อ เพิ่มเติม คัดลอก Independent Review จึงเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณของการเป็นผู้ตรวจประเมินฯ

การพูดถึง/แสดงออกถึงกระบวนการตรวจประเมินว่า “ไม่มีมาตรฐานของกระบวนการตรวจประเมิน” ผิดจรรยาบรรณหรือไม่?

ตอบ การเสนอความคิดเห็นโดยมีวัตุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการตรวจประเมิน พึงกระทำได้
อย่างไรก็ตามควรจะพิจารณา ถึงสถานที่ เวลา ความเหมาะสมและคู่สนทนา ทั้งนี้ควรเสนอความเห็น
นั้นโดยตรงไปยังผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

ผู้ตรวจประเมินได้รู้จักกับผู้บริหาร และพนักงานขององค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลในระหว่างการตรวจประเมินขั้นที่ 3 (Site Visit Review) ผู้ตรวจประเมินมีคำถามว่า เมื่อผู้ตรวจประเมินพบผู้บริหารและพนักงานขององค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลภายหลังจากการตรวจประเมินเรียบร้อยแล้วผู้ตรวจประเมินสามารถจะทักทาย หรือในบางโอกาสมีการถ่ายรูปเป็นที่ระลึกในงานต่างๆ ได้หรือไม่ (ผู้ตรวจประเมินเป็นห่วงว่าการทักทายจะทำให้ผู้อื่นรู้ว่าผู้ตรวจประเมินได้ไปประเมินองค์กรนั้นๆ ซึ่งอาจทำให้การเก็บรักษาความลับทำไม่ได้)

ตอบ ผู้ตรวจประเมินเป็นผู้ทรงเกียรติ ดังนั้นการทักทาย ถ่ายภาพแสดงความยินดีเป็นมารยาททางสังคมที่พึงกระทำได้ แต่อย่างไรก็ตามการเก็บรักษาความลับที่เกี่ยวกับองค์กรผู้สมัครยังคงต้องถือปฏิบัติตามจรรยาบรรณผู้ตรวจประเมิน หมวดที่ 2 การเก็บรักษาความลับ

ข้อมูลขององค์กรผู้สมัครจะเก็บเป็นความลับไปนานเท่าไหร่

ตอบ ความลับขององค์กรผู้สมัครต้องเก็บไว้เป็นความลับตลอดไป เนื่องจากการเปิดเผยความลับอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรผู้สมัครรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และสาธารณชน

ผู้ตรวจประเมินสามารถแสดงตนว่าเป็นผู้ตรวจประเมินฯ ให้สาธารณชนทราบได้หรือไม่

ตอบ ผู้ตรวจประเมินเป็นผู้ทรงเกียรติ สามารถแสดงตนว่าเคยได้เป็นผู้ตรวจประเมินฯ ให้สาธารณชนรับทราบได้อย่างภาคภูมิใจ รวมถึงการอ้างอิงในประวัติและประสบการณ์การทำงานก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณผู้ตรวจประเมินฯ

ถ้าผู้ตรวจประเมินมาตรวจองค์กรของผู้สมัครขอรับรางวัล ในระหว่างการตรวจประเมินขั้นที่ 3 (Site Visit Review) เพื่อนของผู้ตรวจประเมินซึ่งเป็นผู้ตรวจประเมินเหมือนกันสามารถมาทักทายซึ่งกันและกันได้หรือไม่

ตอบ ผู้ตรวจประเมินเป็นผู้ทรงเกียรติการทักทายเป็นมารยาททางสังคมที่พึงกระทำได้แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณของผู้ตรวจประเมินฯ ในเรื่องการรักษาความลับ

ผู้ตรวจประเมินฯ สามารถเปิดเผยโอกาสในการปรับปรุงองค์กรที่เคยตรวจประเมิน (OFI) แต่ไม่เอ่ยชื่อองค์กร สามารถกระทำได้หรือไม่

ตอบ จรรยาบรรณผู้ตรวจประเมินฯ หมวดที่ 2 การเก็บรักษาความลับข้อ 2.7 ระบุว่า “ไม่นำข้อมูลขององค์กรผู้สมัครขอรับรางวัลไปดัดแปลงหรือไปใช้ หลังจากการตรวจประเมิน ยกเว้นเป็นข้อมูลที่องค์กรผู้สมัครเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยตนเอง” ดังนั้นการกระทำดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นการขัดต่อจรรยาบรรณของผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

ผู้ตรวจประเมินฯ รู้จักกับองค์กรที่สมัครขอรับรางวัลเป็นอย่างดีเคยติดต่อหาวิทยากรไปอบรมให้อย่างสม่ำเสมอ (แต่ไม่ได้ไปอบรมเอง) สามารถตรวจประเมินองค์กรนั้นๆ ได้หรือไม่

ตอบ จรรยาบรรณผู้ตรวจประเมินฯ หมวดที่ 3 ผลประโยชน์ทับซ้อน ข้อ 3.3 ระบุว่า
“หลีกเลี่ยงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดแย้งในผลประโยชน์ หรือการมีสถานภาพที่อาจมีผลประโยชน์ขัดแย้ง หรืออาจขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์ของรางวัล การบริหารรางวัล และเกียรติภูมิของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ”
ดังนั้นกรณีดังกล่าวผู้ตรวจประเมินต้องพิจารณาถึงความเป็นกลางในฐานะผู้ตรวจประเมินและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเป็นสำคัญ

นาย ก. เข้าไปเป็นวิทยากรที่ปรึกษาให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยนาย ก. ได้ขอคำแนะนำจากนาย ข. ในการให้คำปรึกษาเพื่อปรับปรุงระบบให้กับบริษัทเหล่านั้นโดยที่นาย ข.ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากนาย ก. หรือบริษัทนั้น นาย ข. สามารถทำหน้าที่ผู้ตรวจประเมินให้กับบริษัทที่นาย ก. ให้คำปรึกษาได้หรือไม่

ตอบ จรรยาบรรณผู้ตรวจประเมินฯ หมวดที่ 3 ผลประโยชน์ทับซ้อน ข้อ 3.3 ระบุว่า
“หลีกเลี่ยงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือการขัดแย้งในผลประโยชน์ หรือการมีสถานภาพที่อาจมีผลประโยชน์ขัดแย้ง หรืออาจขัดแย้งต่อวัตถุประสงค์ของรางวัล การบริหารรางวัล และเกียติภูมิของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ”
ดังนั้น กรณีดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้